ทำไม กยศ. หักเงินเดือนเพิ่ม 3000 บาท เปิด 2 วิธีแก้สำหรับผู้กู้


09 / 04 / 2025

วันที่ 9 เมษายน 2568 จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก "Drama-addict" ได้เผยแพร่ข้อความขอความช่วยเหลือจากลูกเพจ ซึ่งเป็นลูกหนี้ กยศ. ให้ช่วยตรวจสอบการหักเงินชำระหนี้ กยศ. ที่เพิ่มขึ้นกะทันหัน โดยมีการหักเงินเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 3,000 บาท จากจำนวนที่หักอยู่แล้วทุกเดือน โดยระบุว่าไม่มีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน อีเมล์ หรือช่องทางใดๆ ที่จะทำให้ทราบว่าเงินที่ถูกหักเพิ่มขึ้นนั้นคือค่าอะไร และยังไม่มีการแจ้งล่วงหน้าเกี่ยวกับการปรับเพิ่มจำนวนเงินดังกล่าวแต่อย่างใด

ซึ่งต่อมาพบว่า มีการชี้แจงจาก กยศ. ว่า เงินที่เก็บเพิ่ม 3,000 บาทนั้นเป็นการเก็บเงินในเคสที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยระบุว่า ถ้าผู้กู้ยืมไม่ต้องการให้นายจ้างหักเงินตามที่กองทุนฯ แจ้งในเดือนนี้ ต้องปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

1. ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้

  • เพื่อลดจำนวนการผ่อนชำระต่อเดือน
  • ขยายเวลาการผ่อน
  • ลดเบี้ยปรับให้ 100%
  • และปลดผู้ค้ำประกันให้

โดยกองทุนฯ จะแจ้งจำนวนเงินการหักเงินเดือนตามยอดผ่อนชำระใหม่ ในเดือนถัดจากเดือนที่ผู้กู้ยืมได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เช่น ในกรณีที่ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ภายในเดือนเมษายน 2568 กองทุนจะแจ้งยอดผ่อนชำระใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2568 ดังนั้นในเดือนเมษายน 2568 จะทำให้ถูกหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท เพียง 1 เดือนเท่านั้น

2. ชำระยอดหนี้ค้างให้เสร็จสิ้น หากผู้กู้ยืมชำระแล้วให้ผู้กู้ยืมเงินนำหลักฐานการชำระแจ้งต่อนายจ้างแล้ว ให้นายจ้างลบยอดออก 3,000 บาท จากยอดหักเงินเดือนในเดือนเมษายน 2568 ได้

 

เงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.

สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ. นั้น ครอบคลุมเป้าหมายคือ กลุ่มก่อนฟ้องคดี, กลุ่มที่บอกเลิกสัญญาแล้วแต่ยังไม่ฟ้องคดี, กลุ่มที่ฟ้องคดีแล้วแต่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา, กลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่ยังไม่บังคับคดีและได้บังคับคดีไปแล้ว และกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด

 

อบรมฟรี นายหน้าอสังหาเงินล้าน | เปิดรับนายหน้าอิสระ Tooktee Agent คลิกสมัคร

 

โดยเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ มีดังนี้

  • ผู้กู้ยืมจะต้องผ่อนชำระเงินคืนกองทุนเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน
  • ผู้กู้ยืมต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี
  • ในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
  • การคำนวณยอดหนี้ที่จะนำมาปรับโครงสร้างหนี้

 

ทั้งนี้ กองทุนฯ จะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด ในกรณีคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้วไม่มียอดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงเหลือ กองทุนฯจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้กู้ยืมและให้ส่วนลดเบี้ยปรับ 100% โดยถือว่าผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว

สำหรับผู้กู้ยืมที่มียอดหนี้คงเหลือและอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ กองทุนฯจะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรก มาคำนวณตัดชำระหนี้ใหม่ จากเดิมตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น แต่เมื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่จะตัดเงินต้น (เฉพาะส่วนที่ครบกำหนด) ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ

- อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และอัตราเบี้ยปรับ 0.5% ต่อปี
- ในส่วนของเบี้ยปรับทั้งหมด กองทุนฯจะพักแขวนไว้ เมื่อผู้กู้ได้ทำการชำระหนี้ปิดบัญชีจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100%
- เมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากสัญญาค้ำประกันเงินกู้ทันที
- ในกรณีที่ผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สะสมถึง 6 งวด หรือเมื่อผู้กู้ยืมมีงวดผ่อนชำระเหลือไม่ถึง 6 งวด หากผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ให้ถือว่าสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สิ้นสุดลง กองทุนฯจะนำเบี้ยปรับที่ตั้งพักแขวนไว้กลับคืนมาเป็นทุนทรัพย์เพื่อดำเนินการฟ้องร้องหรือบังคับคดีกับผู้กู้ยืมต่อไป

 

เว็บไซต์อ้างอิง : กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา

ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหว ติดตาม Tooktee (ทุกที่) ผ่านโซเชียลมีเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง
รายการ